ประเด็นร้อน
คำพิพากษา 'คดียิ่งลักษณ์' (1)
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 08,2017
- - สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ - -
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกานักการเมือง) เผยแพร่คำพิพากษากลางคดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ คดีจำนำข้าว ที่สร้างมูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท
5หน่วยงานทักท้วงจำนำข้าว
ในคำฟ้องของอัยการสูงสุดนั้นได้ย้ำกับศาลโดยชี้ให้เห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นั้นได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งก่อนและระหว่างดำเนินโครงการจากหลายหน่วยงานที่ทำหนังสือแจ้งเตือน ทักท้วง รวมถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งยังมีข้อเสนอแนะต่างๆ มากมาย อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือสรุปประเด็นและความเสี่ยงที่สำคัญที่พบจากการตรวจสอบการดำเนินโครงการถึงนางสาวยิ่งลักษณ์โดยตรง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือชี้ให้เห็นว่า วิธีการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยการรับจำนำนั้นก่อให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องของการบิดเบือนกลไกตลาด รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวจำนวนมาก หากระบายออกไม่ทันจะเป็นเหตุให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชี้ให้เห็นถึงการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการ ผู้รับประโยชน์มีเพียงบุคคลบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมเกษตรกรอย่างทั่วถึง ได้เสนอให้ยกเลิกโครงการและนำระบบการประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าวมาดำเนินการแทน
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้ทำหนังสือเสนอแนวทางเพิมประสิทธิภาพการดำเนินโครงการ รวมถึงประเด็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนในอดีต รวมถึงผลกระทบ ความเสียหาย เพื่อให้ใช้ประกอบเป็นแนวทางในการวางระบบและกำกับดูแลโครงการให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตกรและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการทุจริต
ระหว่างดำเนินโครงการ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการครม.เสนอแนะให้ครม.พิจารณารับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอ ขณะที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐที่แต่งตั้งโดย กขช. ได้มีหนังสือให้ข้อสังเกตและเสนอแนะถึงประธานกขช.หลายครั้งว่า การรับจำนำแบบไม่จำกัดปริมาณและวงเงินโครงการส่งผลต่อความเสี่ยงจากการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์จำนำ และการกำหนดราคารับจำนำที่ไม่สอดคล้องและสูงกว่าตลาด มีความเสี่ยงก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุนจำนวนมาก ฯลฯ
แต่นางสาวยิ่งลักษณ์กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการบริหารราชการแผ่นดินให้สมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำประเทศ โดยงดเว้นการป้องกันความเสียหาย ทำให้โครงการนี้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกร งบประมาณแผ่นดิน ก.คลัง ประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล
ไม่สร้างความมั่นคงทางรายได้
เมื่อได้ดำเนินโครงการไปแล้วหน่วยงานข้างต้น รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปก็ได้ทักท้วงเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ แต่ก็ไม่ระงับยับยั้ง หรือระงับความเสียหายด้วยวิธีการที่จะทำให้เหตุแห่งการทุจริตและความเสียหายหมดสิ้นไป หรือปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้สามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วได้ และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำต่อเนื่องไปอีก กลับร่วมลงมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไปซึ่งไม่เป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้แก่เกษตรกรตามที่แถลงนโยบายไว้ แต่เป็นนโยบายประชานิยมที่นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย
แสดงให้เห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายและภายใต้การดำเนินการ สั่งการ และการบังคับบัญชาของนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ทำธุรกิจค้าข้าวและผู้ทำ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งประโยชน์จากการทุจริตในขั้นตอนรับซื้อข้าวเปลือก ขั้นตอนการระบายข้าวส่วนใหญ่ตกแก่ผู้ทำธุรกิจโรงสี ท่าข้าว และนักธุรกิจค้าข้าว
เมื่อทราบเรื่องทุจริต การหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการ ปกปิดข้อมูลในขั้นตอนการระบายข้าว ส่อไปในทางรู้เห็นและได้ผลประโยชน์กับการทุจริต แต่กลับปล่อยให้โครงการดำเนินต่อไปโดยงดเว้นไม่ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ผู้ทุจริตได้รับประโยชน์จากโครงการต่อไปอีก เป็นการแสวง หาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.123/1
วินิจฉัย'ปู'ฐานะฝ่ยปกครอง
ในคำพิพากษาของศาลได้ชี้ให้เห็นในหลายประเด็น เริ่มจากอัยการสูงสุดมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อสู้ว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนในฐานะนายกฯ ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งยังเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกขช. จึงไม่อาจดำเนินคดีแก่ตนโดยลำพังได้นั้น
ศาลวินิจฉัยประเด็นนี้โดยระบุว่า ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงให้อำนาจนั้นทางรัฐสภา ครม.และศาล ตามบท บัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" แสดงว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยให้อำนาจหน้าที่แตกต่างกันไปนั้นมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
และเมื่อพิจารณาวรรค 2 ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวที่ว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ครม. ศาล. ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม" แสดงว่า การใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแต่ละฝ่ายย่อมต้องเป็นไปตามบทกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ และย่อมถูกตรวจสอบการใช้อำนาจที่ว่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบทางการเมืองโดยองค์กรทางการเมืองด้วยกันเอง หรือการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ หรือศาล ตามแต่รธน.จะบัญญัติกลไกในการตรวจสอบไว้
เมื่อรธน.มาตรา 178 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า "ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ตามมาตรา 176 และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของครม." ยิ่งชี้ให้เห็นว่า การกระทำของฝ่ายบริหารทั้งสองส่วนต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจเช่นเดียวกันกับองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐโดยทั่วไป ซึ่งรธน.ได้บัญญัติการตรวจสอบต่อการกระทำในฐานะรัฐบาลหรือการกระทำทางรัฐบาลไว้ให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของครม. และวางบทบาทของรัฐสภาให้เป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของรัฐมนตรีนี้เป็นไปตามบทบัญญัติหมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 9 การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 156 -162 อาทิ ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ อันเป็นผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแล้วแต่กรณี เป็นต้น หรือใน
หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาตรา 270-274 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอาจถูกสมาชิกวุฒิสภาลงมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งได้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นหลักการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง การที่รธน.บัญญัติไว้เช่นนี้ แสดงว่า กฎหมายสูงสุดประสงค์ให้รัฐสภาเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบการกระทำทางรัฐบาล ไม่ใช่ให้องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเช่นศาลเข้าไปตรวจสอบ
ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า นโยบายของรัฐบาลใดชอบด้วยกฎหมาย หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ในส่วนการ กระทำในฐานะฝ่ายปกครองหรือการดำเนินการทางปกครอง โดยเฉพาะในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายปกครอง ซึ่งมีหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินและบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) และ (3) ย่อมต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการหรือศาลได้
ดำเนินคดีเฉพาะ'ยิ่งลักษณ์'ได้
ดังนั้น แม้โครงการนี้จะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แต่หากปรากฏว่า ในขั้นตอนปฏิบัติตามโครงการมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก็ย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวน การยุติธรรมได้ โดยเฉพาะคดีนี้เป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิใช่การตำหนิข้อบกพร่องหรือการดำเนินนโยบายผิดพลาดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้ตามบทบัญญัติมาตรา 250 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19
อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลใดจะรับผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการกระทำและเจตนาของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ หากปราศจากการกระทำหรือกระทำไปโดยขาดเจตนาแล้ว ย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 อันเป็นความรับผิดชอบเฉพาะตัวของบุคคล แม้บุคคลนั้นจะอยู่ร่วมในคณะบุคคลและกระทำความผิดโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของคณะบุคคลก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่า จะต้องดำเนินคดีแต่บุคคลทั้งคณะด้วยแต่อย่างใด ดังนั้นคณะกรรมการป.ป.ช. จึงมีอำนาจกล่าวหาและดำเนินคดีแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีโดยลำพังได้
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน